วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552


ส่วนประกอบของเลือดคน

เลือดเป็นของเหลวที่สำคัญต่อร่างกายสิ่งมีชีวิต โดยเลือดเป็นสิ่งแสดล้อมภายในร่างกายที่สำคัญของเซลล์ คนเรามีเลือดประมาณร้อยละ 7-8 ของน้ำหนักตัว เลือดประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นของเหลวเรียกว่าน้ำเลือดหรือพลาสมา (plasma) ซึ่งมีประมาณร้อยละ 55 ของปริมาณเลือดทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 45 เป็นส่วนของเม็ดเลือด ซึ่งประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดแดง (erythrocyte) เซลล์เม็ดเลือดขาว (leucocyte) และเพลตเลต (platelet) เลือดของคนเรามีความถ่วงจะเพาะประมาณ 1.055-1.065 และมี pH ประมาณ 7.3 - 7.4 ในคนแต่ละคนจัมีเลือดไม่เท่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับเพศ อายุ น้ำหนัก สุขภาพ ร่างกายในผู้ใหญ่ปกติหนัก 70 กิโลกรัม จะมีเลือดประมาณ 5 ลูกบาศก์เดซิเมตร หรือประมาณ 5 ลิตร โดยเฉลี่ยผู้ชายมีเลือดมากว่าผู้หญิง ส่วนประกอบของเลือดได้แก่ เม็ดเลือด (blood corpuscle) เป็นส่วนที่เป็นเซลล์อยู่ประมาณร้อยละ 45 ของเลือดทั้งหมด มี 3 ชนิด ดังนี้

1.เซลล์เม็ดเลือดแดง (red blood cell or erythrocyte)

เม็ดเลือดแดงมีลักษณะกลมแบบตรงกลางเว้าเข้าเรียกว่าไบคอนเคฟ (biconcave) มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-8 ไมโครเมตร เม็ดเลือดแดงสร้างจากไขกระดูก (bone marrow) ตอนที่สร้างใหม่ๆและอยู่ในไขกระดูกยังคงมีนิวเคลียสอยู่ แต่เมื่ออายุมากขึ้นนิวเคลียสจะหลุดไป และถูกปล่อยออกจากไขกระดูกเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือด เม็ดเลือดแดงมีอายุประมาณ 100-120 วัน ที่เยื่อเซลล์ของเม็ดเลือดแดงมีสารฮีโมโกลบิน (hemoglobin,Hb) ซึ่งเป็นสารโปรตีนประกอบด้วย ฮีม (heme) ประมาณร้อยละ 4 และโปรตีนโกลบิน ประมาฯร้อยละ 96 มีสูตร ในเซลล์เม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์มีฮีโมโกลบินประมาณ 29 ถึง กรัม ฮีโมโกลบินแต่ละโมเลกุลจะจับกับแก๊สออกซิเจนได้ 4 โมเลกุล เนื่องจากมีธาตุเหล็ก 4 อะตอม



การสร้างและการทำลายเม็ดเลือดแดง

ในขณะเป็นตัวอ่อนระยะแรกๆ อยู่ในครรภ์มารดา อวัยวะที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง คือ ถุงไข่แดง (yolk sac) ต่อมาจะสร้างที่ตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลือง เมื่อคลอดแล้วจะสร้างจากไขกระดูกเท่านั้น ไขกระดูกที่สำคัญ คือ ไขกระดูกสีแดง (red bone marrow) ของกระดูกสันหลัง กระดูกอก กระดูกซี่โครง และกระดูกต้นแขนต้นขา การสร้างเม็ดเลือดแดงเรียกว่า อีรีโทรโพอิซิส (erythropoiesis) ซึ่งจะสร้างจากประมาณ 400-500 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อเดือน แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับปริมาณเม็ดเลือดแดงด้วย ถ้าเม็ดเลือดแดงลดน้อยลงจะมีการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มมากขึ้น ปริมาณแก๊สออกซิเจนถ้าแก๊สออกซิเจนลดลงก็ทำให้สร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น ฮอร์โมนทำหน้าที่กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง คือ ฮอร์โมนอีรีโทรโพอิทิน (erythropoietin) ซึ่งสร้างมากจากไตและจากตับบางส่วน โดยเมื่อออกซิเจนในเลือดน้อยลงจะมีผลให้ไตหลั่งเอนไซม์อีรีโทรเจนิน (erythrogenin) ซึ่งจะไปออกฤทธิ์กับโปรตีนโกลบูลินใน พลาสมาได้สารอีรีโทรโพอิทิน ไปกระตุ้นไขกระดูกให้เร่งสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น
เม็ดเลือดแดงที่มีอายุมากผนังเซลล์จะเปราะและแตกง่าย จะถูกกำจัดโดยการฟาโกไซโทซิสของเซลล์ที่เรียกว่าเรทิคิวโลเอนโดทีเรียลเซลล์ (reticuloendothelial cell) ที่ม้าม ตับ ต่อมน้ำเหลือง และไขกระดูก เมื่อฮีโมโกลบินแตกออก เหล็กจะเข้าสู่กระแสเลือดและถูกลำเลียงไปยังกระดูกโดยโปรตีนทรานส์เฟอร์ริน (transferrin) เพื่อสร้างเม็ดเลือดแดงเซลล์ใหม่หรืออาจจะสะสมอยู่ที่ตับบ้าง ส่วนสารเม็ดสีใรเม็ดเลือดจะถูกเปลี่ยนให้เป็นบิลิรูบิน (bilirubin) และบิลิเวอร์ดิน (biliverdin) ซึ่งจะถูกขับออกมากับน้ำดีต่อไป
ฮีมาโทคริต (hematocrit,Hct) เป็นอัตราส่วนของปริมาตรเม็ดเลือดแดงต่อปริมาณเม็ดเลือดทั้งหมด ซึ่งคิดออกมาเป็นร้อยละ ในผู้ชายปกติมีค่าฮีมาโทคริตประมาณร้อยละ 45 ส่วนผู้หญิงประมาณร้อยละ 40 ซึ่งต่ำกว่าผู้ชาย ในคนที่เป็นโรคโลหิตจาง (anemia) จะมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ค่าฮีมาโทคริตต่ำอาจเป็นร้อยละ 20 หรือร้อยละ 30 เท่านั้น เลือดจะใสการรับส่งแก๊สออกซิเจนเป็นไปได้ไม่ดี ส่วนคนที่มีเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ เรียกว่า เป็นโรคพอลิไซทีเมีย (polycytemia) อาจมีค่า ฮีมาโทคริตถึงร้อยละ 60 ซึ่งจะมีผลให้เลือดข้นมาก และหนืด การไหลเวียนไม่ดี หัวใจต้องทำงานหนัก

2.เซลล์เม็ดเลือดขาว (white blood cell or leucocyte)



เม็ดเลือดขาวช่วยทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันคอยทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมให้แก่ร่างกาย เซลล์เม็ดเลือดขาวไม่มีฮีโมโกลบินแต่มีนิวเคลียสอยู่ด้วย เซลล์เม็ดเลือดขาวมีอายุประมาณ 2-3 วัน เม็ดเลือดขาวแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามลักษณะของเม็ดเล็กๆ (granule) ที่อยู่ในเซลล์ คือ

1) แกรนูโลไซต์ (granulocyte)

เป็นเม็ดเลือดขาวที่มีเม็ดเล็กๆ อยู่ภายในเซลล์ด้วย สร้างมาจากไขกระดูกแบ่งตามลักษณะของนิวเคลียสและการย้อมติดสีได้เป็น 3 ชนิด คือ
1.1 นิวโทรฟิล (neutrophil) แกรนูลย้อมติดสีน้ำเงินม่วงและแดงคละกัน ทำให้เห็นเป็นสีเทาๆ มีนิวเคลียสหลายพู ทำลายสิ่งแปลกปลอมโดยการกินแบบฟาโกไซโทซิส แล้วจึงปล่อยน้ำย่อยจากไลโซโซมออกมาย่อย นิวโทรฟิลมีประมาณร้อยละ 65-75 ของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด นิวโทรฟิลมักกินสิ่งแปลกปลอมที่มีขนาดเล็กจึงเรียกว่าไมโครเฟก (microphage) ซากของแบคทีเรียที่นิวโทรฟิลกินและนิวโทรฟิลที่ตายจะกลายเป็นหนอง (pus) และกลายเป็นฝีได้
1.2 อีโอซิโนฟิล (eosinophil) หรือแอซิโดฟิล (acidophil) แกรนูลย้อมติดสีชมพู มีนิวเคลียส 2 พู ทำหน้าที่เช่นเดียวกับนิวโทรฟิลและช่วยในการป้องกันการแพ้พิษต่างๆ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ทำลายพยาธิที่เข้าสู่ร่างกายได้ด้วย อีโอซิโนฟิลมีประมาณร้อยละ 2-5 ของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด
1.3 เบโซฟิล (basophil) แกรนูลย้อมติดสีม่วงหรือน้ำเงินทำหน้าที่ปล่อยสารเฮพาริน (heparin) ซึ่งเป็นสารพวกพอลิแซ็กคาไรด์ช่วยป้องกันการแข็งตัวของเลือดในเส้นเลือดและสร้างฮิสทามีนซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้หรืออักเสบ เบโซฟิลมีประมาณร่อยละ 0.5 ของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด

2) อะแกรนูโลไซต์ (agranulocyte)

เป็นพวกที่ไม่มีเม็ดแกรนูลเล็กๆ ในเซลล์ สร้างมากจากม้ามและต่อมน้ำเหลือง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
2.1 ลิมโฟไซต์ (lymphocyte) เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีนิวเคลียสใหญ่เกือบเต็มเซลล์ สามารถสร้างแอนติบอดี (antibody) ขึ้นมาต่อต้านสิ่งแปลกปลอม หรือเชื้อโรคได้ ลิมโฟไซต์มีประมาณร้อยละ 20-25 ของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด ลิมโฟไซต์แบ่งออกเป็นหลายชนิด คือ ลืมโฟไซต์ชนิดบี (B-lymphocyte) หรือ เซลล์บี (B-cell) ซึ่งเจริญพัฒนาที่ไขกระดูก หรือไปเจริญพัฒนาที่เนื้อเยื่อน้ำเหลืองบริเวณลำไส้ ส่วนอีกชนิดหนึ่งเรียกว่าลิมโฟไซต์ชนิดที (T-lymphocyte) หรือ เซลล์ที (T-cell) ซึ่งจะเจริญและพัฒนาที่ต่อมไทมัส (thymas gland)
2.2 มอโนไซต์ (monocyte) เป็นเม็ดเลือดขาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีนิวเคลียสใหญ่ รูปเกือกม้าอยู่ที่บริเวณกลางเซลล์ มอโนไซต์มีประมาณร้อยละ 2-6 ของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด มอโนไซต์กินแบคทีเรียแบบฟาโกไซโทซิสเช่นเดียวกับนิวโทรฟิลและมักกินของโตๆ ทที่เม็ดเลือดขาวอื่นกินไม่ได้จึงถูกเรียกแมโครเฟก (macrophage)
เม็ดเลือดขาวสามารถเล็ดลอดออกนอกเส้นเลือดได้โดยวิธีที่เรียกว่าไดอะพีดีซิส (diapedesis) แล้วเคลื่อนตัวไปยังบริเวณที่มีการติดเชื้อ หรือเกิดบาดแผลเมื่อร่างกายเกิดการอักเสบ เช่น ไส้ติ่งอักเสบหรือปอดบวม เซลล์เม็ดเลือดขาวจะเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าอักเสบจากเชื้อไวรัส เซลล์เม็ดเลือดขาวจะลดลง
โรคลิวคีเมีย (leukemia) เป็นโรคที่มีการสร้างเม็ดเลือดขาวอย่างควบคุมไม่ได้ ทำให้มีการสร้างอยู่เรื่อยๆ จนเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติอยู่หลายเท่า เซลล์เม็ดเลือดขาวนี้ทำหน้าที่ไม่ได้ เนื่องจากเซลล์มีลักษณะเป็นเซลล์อ่อนการเจริญผิดปกติจึงแบ่งเซลล์ได้ตลอดเวลา ซึ่งเรียกกันว่า โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

3.เพลตเลตหรือเกล็ดเลือดหรือแผ่นเลือด (platelet)

หรือทรอมโบไซต์ (thrombocyte) เกล็ดเลือดเป็นชิ้นส่วนของเซลล์เมกะแครีโอไซต์ (megakaryocyte) ในไขกระดูกมีขนาดเล็กประมาณ 2-4 ไมโครเมตร มีอายุค่อนข้างสั้น เพียง 7-10 วันเท่านั้น เกล็ดเลือดมีหน้าที่สำคัญในการช่วยให้เลือดแข็งตัว (blood clot) ซึ่งเกิดเป็นขั้นๆ ดังนี้
1) เมื่อร่างกายเกิดบาดแผลจะทำให้เกล็ดเลือดและเนื้อเยื่อที่เกิดบากแผล (tissue damage) ปล่อยสารทรอมโบพลาสทิน (thromboplastin) ซึ่งเป็นเอนไซม์ชนิดหนึ่งออกมา
2) ทรอมโบพลาสทินที่ถูกปล่อยออกมาจะไปกระตุ้นโพรทรอมบิน (prothrombin) ซึ่งเป็นพลาสมาโปรตีนชนิดหนึ่งให้เปลี่ยนเป็นทรอมบิน (thrombin) โดยทำงานร่วมกับแคลเซียมไอออน และวิตามินเคในเลือด
3) ทรอมบินที่เกิดขึ้นจะกระตุ้นให้ไฟบริโนเจน (fibrinogen) ซึ่งเป็นพลาสมาโปรตีนอีกชนิดหนึ่งเปลี่ยนเป็นไฟบริน (fibrin) และรวมตัวสานกันเป็นตาข่ายอุดตรงรอยแผลป้องกันการไหลของเลือดออกจากบาดแผล
โรคเลือดออกไม่หยุด หรือโรคฮีโมฟีเลีย (hemophilia) เป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งมักเป็นกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากเป็นลักษณะที่ติดมากับเพศโดยจีนที่ควบคุมอยู่บนโครโมโซม X และเป็นจีนด้อย โดนคนที่เป็นโรคนี้จะขาดปัจจัยในการแข็งตัวของเลือด คือ ทรอมโบนาสทิโนเจน (thromboplastinogen) ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นทรอมโบพลาสทิน ดังนั้นคนที่เป็นโรคเลือดออกไม่หยุดจึงไม่มีทรอมโพลาสทิน






4.น้ำเลือด (blood plasma)

เป็นส่วนที่เป็นของเหลวของเลือดที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 55 ของเลือดทั้งหมด ประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 น้ำมีหน้าที่ในการละลายสาร แก๊ส ของเสีย ช่วยให้เกิดความดันเลือดและลดความหนืดของเลือดให้เหมาะกับการไหลเวียน